วันพุธที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2556

      ภาพยนตร์ไทย มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน เป็นสื่อให้ความบันเทิงที่มีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานับร้อยปี    การเริ่มต้นและเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเมืองไทย ได้พัฒนาไปพร้อมๆกับพัฒนาการของหนังในส่วนอื่นของโลกเช่นกัน   ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกถ่ายทำในเมืองไทย คือ เรื่อง นางสาวสุวรรณ ผู้สร้าง คือ บริษัทภาพยนตร์ ยูนิเวอร์ซัล ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ผู้แสดงทั้งหมดเป็นคนไทย พ.ศ. 2470 ภาพยนตร์เรื่อง โชคสองชั้น เป็นภาพยนตร์ขนาด 35 มิลลิเมตร ขาว-ดำ ไม่มีเสียง ได้รับการยอมรับให้เป็นภาพยนตร์ประเภทเรื่องแสดงเพื่อการค้าเรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทย  และก็มีหนังอีกหลายๆเรื่องที่ผลิตออกมาให้เราได้ชม
                      ในปัจจุบันมีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่น่าสนใจและมีเทคนิคการถ่ายทำที่ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับหนังต่างประเทศ  ดังนั้นเราชาวไทยควรจะสนับสนุนหนังไทยโดยการชมหนังไทยเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ที่ทำหนัง เพื่อจะได้ผลิตหนังดีๆมาให้เราชม  จึงอยากจะเชิญชวนชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมกันชมภาพยนตร์ไทยด้วยกันนะครับ

ภาพยนตร์ไทยยุคเริ่มต้น

ไฟล์:Misssuwannaofsiam.jpg

              ภาพยนตร์เป็นสื่อให้ความบันเทิงที่มีอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานับร้อยปีการเริ่มต้นและเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเมืองไทย เกือบเป็นไปในลักษณะคู่ขนานกับการเริ่มต้นและเติบโตของภาพยนตร์ในส่วนต่างๆของโลก การสร้างหนังในเมืองไทยก็เริ่มต้นเเละพัฒนาไปพร้อมๆกับพัฒนาการของหนังในส่วนอื่นของโลกเช่นกัน ประวัติภาพยนตร์ไทย เิ่ริ่มต้นในปี พ.ศ. 2439 เมื่อพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จเยือนสิงคโปร์ และ ชวา วันที่ 10 สิงหาคม พระองค์ท่านมีโอกาสทอดพระเนตรหนังประเภทที่เรียกว่า Kinestoscope หรือภาพยนตร์แบบถ้ำมองของคณะหนังเร่ของนาย Thomas Edison ซึ่งมีผู้นำมาเล่นถวาย พระพุทธเจ้าหลวงจึงเป็นคนไทยคนแรกที่ได้ชมภาพยนตร์ ปีถัดมา S.G. Marchovsky และคณะนำเอาหนังของพี่น้องตระกูล Lumiere แบบที่เรียกว่า Cinematograph เข้ามาฉายในกรุงสยาม การฉายหนังครั้งนั้น เป็นการฉายหนังให้สาธารณะชนดูเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2440 รอบแรกที่หนังออกฉาย โดยจัดฉายที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ตั้งอยู่ที่ถนนเจริญกรุง แกล้ประตูสามยอด
                ปี 2447 คณะฉายภาพยนตร์แบบหนังเร่ชาวญี่ปุ่นนำหนังเข้ามาฉาย หนังส่วนใหญ่เป็นเหตุการณ์การสู้รบระหว่าง ญี่ปุ่นกับรัสเซีย ซึ่งกำิลังต่อสู้กันในขณะนั้น การฉายใช้วิธีกางผ้าใบชั่วคราวในบริเวณลานว่างของวัดชัยชนะสงคราม หรือวัดตึก  เืมื่อเห็นว่าการฉายหนังครั้งแรกได้ผลดี ปีถัดมาคณะหนังเร่คณะเดียวกันก็กลับมาฉายหนังเร่ในเมืองไทยอีกครั้ง และครั้งนี้ได้สร้างโรงภาพยนตร์ชั่วคราวขึ้นในบริเวณที่ร้างข้างๆบริเวณที่ต่อมามีการสร้างศาลาเฉลิมกรุง จึงเป็นเหตุให้นักธุรกิจชาวสยามคิดสร้างโรงภาพยนตร์ตามบ้าง จึงมีโรงหนังเกิดขึ้นทีละโรงสองโรง เช่น โรงกรุงเทพซินีมาโตกราฟ บริษัทรูปยนต์กรุงเทพ หรือโรงหนังวังเจ้าปรีดา เป็นต้น   เพราะเหตุที่หนังทีมาฉายที่โรงหนังชั่วคราวนั้นเป็นของคนญี่ปุ่น ชาวกรุงเทพจึงเรียกหนังยุคนั้นว่า 'หนังญี่ปุ่น' อยู่หลายปี ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หนังที่เอามาฉายเป็นหนังที่สร้างโดยบริษัทสร้างหนัง Pathe ของฝรั่งเศส หนังที่ฉายแต่ละชุดในยุคนั้น เป็นหนังชุด แต่ละชุดประกอบด้วยหนัง 12 ม้วน แต่ละม้วนยาว 500 ฟุต เวลาฉายหนังจะเริ่มตั้งเเต่ 2 ทุ่ม ไปสิ้นสุดลงเวลา 4 ทุ่ม
                 เมื่อนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆเห็นว่าการฉายหนังเร่เป็นงานที่ทำเงินได้ดีในสยาม จึงเริ่มมองหาสถานที่และสร้างโรงหนังขึ้นตามที่ต่างๆหลายแห่ง หนังจึงกลายเป็นสิ่งบันเทิงของคนกรุงเทพไปในที่สุด การฉายหนังของบริษัทต่างชาติในกรุงเทพในยุคนั้นมีการแข่งขันกันสูงมาก มีการลงโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์กันอย่างเอิกเกริก และต่อมาก็มีการให้จับฉลากตั๋วหนังเพื่อให้ของรางวัลแก่ผู้ดูอีกด้วย ข้อสังเกตคือ ในระยะเวลาช่วงแรกนี้ ยังไม่มีหนังเรื่องใดที่สร้างในเมืองไทยเลย ในหมู่เจ้าของโรงหนังคนสยามก็มีการแข่งขันกันสูงมากเช่นกัน โดยเฉพาะระหว่างบริษัทใหญ่คือบริษัทรูปยนต์กรุงเทพ และบริษัทพยนต์พัฒนาการ ซึ่งแข่งกันสร้างโรงภาพยนตร์ในเครือของตนขึ้นตามตำบลสำคัญๆทั่วกรุงเทพฯ  ถึงปี 2462 ทั้งสองบริษัทใหญ่นี้ตกลงรวมตัวกันเป็นบริษัทเดียวกัน คือ สยามภาพยนตร์บริษัท กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่เกือบจะผูกขาดกิจการค้าภาพยนตร์และกิจการโรงหนังทั่วประเทศ 
                 ปี 2473 เพื่อป้องกันมิให้ภาพยนตร์ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นได้แพร่หลายอย่างกว้างขวาง และมีบทบาทในฐานะสื่อที่มีอิทธิพลสูง รัฐบาลสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงออกกฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่พนักงานตรวจพิจารณาภาพยนตร์ทุกเรื่องก่อนอนุญาิตให้นำออกฉาย เรียกว่าพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช 2473
 
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ

                ภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่มีการถ่ายทำในเมืองไทยคือเรื่อง นางสาวสุวรรณ ผู้สร้างคือบริษัทภาพยนตร์ Universal หนังเรื่องนี้ใช้ผู้แสดงทั้งหมดเป็นคนไทย  การสร้างภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ เริ่มจากนาย Henry McRay ผู้กำกับของ Universal และผู้ช่วย คือ นาย Gordon Sutherland รวมทั้งตากล้อง คือ นาย Dale Clauson เดินทางเข้ามาดูสถานที่ถ่ายทำในเมืองไทยเพื่อทำหนังสารคดีในปี 2466 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 แต่เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทย นาย McRay รู้สึกประทับใจในความสวยงามของภูมิประเทศ จึงตัดสินใจสร้างหนังเรื่องยาวแทน นาย McRay ติดต่อขอพระบรมราชานุญาตถ่ายภาพยนตร์ในเมืองสยาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นอกจากจะทรงอนุญาตแล้ว ยังทรงโปรดให้กรมรถไฟหลวง และกรมมหรสพหลวง ร่วมงานกับนาย McRay ด้วย โดยกรมรถไฟหลวงอำนวยความสะดวกในการหาสถานที่ถ่ายทำ การเดินทางขนส่ง การล้างและพิมพ์สำเนาฟิล์มภาพยนตร์ โดยกรมมหรสพช่วยหาผู้แสดงให้     ผู้แสดงสำคัญในหนังเรื่องนี้ได้แก่ นางสาวเสงี่ยม นาวีเสถียร นางรำในกรมมหรสพหลวง แสดงเป็น นางสาวสุวรรณ ขุมรามภรตศาสตร์ (ยม มงคลนัฎ) ตัวโขนพระรามของกรมฯ แสดงเป็น นายกล้าหาญ ตัวพระเอก และหลวงภรตกรรรมโกศล (มงคล สุมนนัฎ) สมุหบาญชี แสดงเป็น นายก่องแก้ว ซึ่งเป็นตัวโกง สถานที่ถ่ายทำ นอกจากในกรุงเทพฯแล้ว ยังเดินทางไปถ่ายทำที่หัวหิน เพื่ออวดสถานที่ตากอากาศของกรุงสยามอีกด้วย และเดินทางไปถ่ายทำที่เชียงใหม่อีกแห่ง เพื่้อแสดงภาพการทำป่าไม้ เมื่อถ่ายทำเสร็จสมบูรณ์ นาย McRay ได้นำขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตร และมอบกรรมสิทธิ์สำเนาหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กับกรมรถไฟหลวง สำหรับนำออกฉายในประเทศไทย  ภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ ออกฉายในกรุงสยามเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2466 ท่ามกลางความตื่นเ้ต้นของประชาชน
               ในปี พ.ศ. 2468 คณะสร้างภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดอีกคณะ เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในสยาม โดยใช้ผู้แสดงเป็นชาวสยามทั้งหมดเช่นกันภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ชื่อว่า "ช้าง"
 
ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ช้าง

               ภาพยนตร์เรื่อง ช้าง กำกับและถ่ายทำโดย มาเรียน ซี คูเปอร์ และ เออร์เนส บี โชคแส็ค ใช้เวลาถ่ายทำทั้งสิ้นปีครึ่ง สิ้นเงินประมาณ 2 แสนบา้ทไทยขณะนั้น สถานที่ถ่ายทำคือจังหวัดน่าน พัทลุง ตรัง สงขลา และชุมพร ออกฉายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2570 ที่โรงภาพยนตร์ในนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา และฉายครั้งแรกในประเทศไทยเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2471 เรื่องย่อๆของภาพยนตร์เรื่อง ช้าง คือ นายกรุจับลูกช้างได้จากหลุมที่ทำดักไว้ แล้วนำลูกช้างนั้นมาผูกไว้ใต้ถุนเรือนของตน ภายหลังแม่ช้างมาทำลายเรือนของนายกรุ เพื่อชิงเอาลูกของมันกลับคืนไป ในเวลาที่ภาพยนตร์เรื่อง ช้าง ออกฉายในประเทศสยามนั้น คนไทยได้สร้างหนังบันเทิงและนำออกฉายแล้วหลายเรื่อง ผู้คนจึงไม่ค่อยตื่นเต้นกับภาพยนตร์เรื่อง ช้าง กันมากเท่าที่ควร
               การถ่ายทำภาพยนตร์ในสยามโดยคนไทย เริ่มด้วยพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 ทรงสั่งซื้อกล้องถ่ายภาพยนตร์และอุปกรณ์เข้ามาในสยามเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงตามเสด็จพระพุธเจ้าหลวง ประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ. 2440 แล้วทรงเริ่มถ่ายภาพยนตร์ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง ภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์สั้นๆ ส่วนพระองค์ เป็นบันทึกพระราชกรณียกิจในพระราชพิธีสำคัญๆ ของพระพุทธเจ้าหลวง และทรงนำออกฉายเก็บค่าดูจากสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานขายของประจำปีของวัดเบญจมาบพิตรฯ ผู้ถ่ายภาพยนตร์ในสยามยุคบุกเบิก ที่สมควรแก่การจารึกพระนามไว้อีกพระองค์คือ พระศรัทธาพงศ์ (ต่วย) ซึ่งต่อมาทรงเป็นเจ้าของโรงหนังรัตนปีระกา
               ปี พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงอัครโยธิน พระเจ้าน้องยาเธอในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงจัดตั้งกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าวขึ้นในกรมรถไฟหลวง เพื่อทำหน้าที่ผลิตหนังข่าวสารและสารคดีเผยแพร่กิจการของกรมรถไฟสยาม ตลอดจนกิจการของกระทรวงทบวงกรมอื่นๆด้วย อีกทั้งยังรับจ้างผลิตภาพยนตร์ให้กับเอกชนโดยทั่วไป เมื่ือการส้างภาพยนตร์บันเทิงของไทยในสยามถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2470 ก็ได้อาศัยอุปกรณ์และบุคลากรจากกองภาพยนตร์นี้เองเป็นสำคัญ


เมื่อ นางสาวสุวรรณ ออกฉายในฐานะภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกไปเมื่อปี พ.ศ. 2466 แล้ว ก็มีเสียงเรียกร้องจากผู้นิยมดูหนังให้มีผู้คิดสร้างหนังไทยขึ้นอีก จนถึงปลายปี พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นช่วงต้นรัชกาลของรัชกาลที่ 7 มีกลุ่มคนไทยประกาศสร้างภาพยนตร์ขึ้นเป็นรายแรก   กลุ่มคนไทยกลุ่มนี้ประกอบด้วย หลวงสุนทรอัศวราช (จำรัส สรวิสูตร) เป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงานได้แก่ พันโทหลวงสารานุประพันธุ์ (ขาว ปาจิณพยัคฆ์) พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ (อำนวย โรจนานนท์) เเละ นายพลพันหุ้มแพร (ไกรวัลย์ จันทนบุพผา) โดยให้ชื่อคณะว่า บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย บริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทยลงประกาศแ้จ้งความรับสมัครนักแสดงในหนังสือพิมพ์รายวัน ปรากฎว่ามีผู้สนใจสมัครมามากมาย แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีทีท่าว่าจะลงมือสร้าง เพราะตัดสินใจไม่ได้ว่าจะสร้างเรื่องอะไรดี  ในระหว่างนั้น มีคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งคิดสร้างภาพยนตร์ขึ้นบ้าง คนไทยกลุ่มนี้ใช้ชื่อว่า กรุงเทพภาพยนตร์ ประกาศรับสมัครผู้แสดงทางหน้าหนังสือพิมพ์เช่นกัน คนไทยกลุ่มนี้ประกอบด้วยพี่น้องตระกูล วสุวัต ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโรงพิมพ์ศรีกรุงและหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวัน  บุคคลที่เป็นตัวจักรสำคัญในบริษัทกรุงเทพภาพยนตร์คือ หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าช่างถ่ายภาพยนตร์ของกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าวกรมรถไฟหลวง
ที่มาhttp://th.wikipedia.org/wiki
 
ภาพยนตร์ไทยในยุค 16 มม. (2490 - 2515)

              ผู้สร้างหนังไทยหันมานิยมสร้างด้วยฟิล์ม 16 มิลลิเมตร แทน 35 มิลลิเมตร ที่เคยสร้าง ภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตรเรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย หนังเรื่องนี้นำแสดงโดย สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ละออ ทิพยวงศ์ สอางค์ ทิพยทัศน์ ประชุม จุลละภมร และเกื้อกูล อารีมิตร ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทั้งในด้านรายได้และคำชมเชยการสร้างภาพยนตร์ไทยในระบบ 16 มม. ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แม้ว่าภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม. จะไม่จัดว่าได้มาตรฐาน แต่การถ่ายทำสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว สามารถล้างฟิล์มแล้วนำออกฉายได้เลยแล้ว อีกทั้งต้นทุนต่ำกว่าการถ่ายทำภาพยนตร์ในระบบ 35 มม. และสามารถกอบโกยกำไรได้อย่างงดงาม จึงเป็นแรงจูงใจให้มีนักสร้างภาพยนตร์มือสมัครเล่น กระโดดเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสร้างกันมาก โดยเฉพาะในช่วงปี พ.ศ. 2500-2515  ช่วงเวลา 15 ปีเต็มอันเป็นช่วงรุ่งเรือง ของภาพยนตร์ไทยในระบบ 16 มม. นี้ แต่ก็เป็นในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ และในบางครั้งภาพยนตร์เหล่านี้มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกันจนดูเป็น สูตรสำเร็จ ที่เน้นความเพลิดเพลินเพื่อนำคนดูออกจากโลกแห่งความเจริญเป็นสำคัญ โดยส่วนใหญ่จะต้องมีครบรสทั้งตลก ชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา บู๊ล้างผลาญรวมไปถึงโป๊บ้างในบางฉาก เรื่องราวมักเป็นแบบสุขนาฏกรรมและจบลงด้วยธรรมะชนะอธรรมเสมอ
                                             
       ภาพยนตร์เรื่องอินทรีทอง นำแสดงโดย พระนางคู่ขวัญ 'มิตร-เพชรา'



              ปัจจัยสำคัญของภาพยนตร์ยุคนี้ คือ ดาราในยุคนั้น มิตร ชัยบัญชาได้เล่นหนังเป็นพระเอกมาแล้วถึง 300 เรื่อง  ส่วนฝ่ายหญิงก็จะมีดาราหญิงอยู่กลุ่มหนึ่งผลัดเปลี่ยนกันขึ้นอันดับดารายอดนิยม นับตั้งแต่วิไลวรรณ วัฒนพานิช, อมรา อัศวนนท์ และ รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ทั้งนี้ ก่อนปี พ.ศ. 2502 คู่พระ-คู่นางที่ผูกขาดวงการภาพยนตร์ไทยก็ยังไม่ปรากฏ มีเพียงกลุ่มนักแสดงชั้นนำที่คนดูให้การยอมรับหรือชื่นชมเท่านั้น จนมาในปี พ.ศ. 2505-2513 พระเอก-นางเอก ของวงการภาพยนตร์ไทยจึงได้ถูกผูกขาดโดย 'มิตร-เพชรา'
ระบบการถ่ายทำภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ยุคนั้น ตัวแสดงพูดไปตามบทโดยไม่มีการบันทึกเสียง นักพากย์จึงกลายเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เหล่านั้นสามารถสื่อสารกับคน ดูได้ ก็เป็นแม่เหล็กสำคัญในการดึงให้ผู้ชมมาชมภาพยนตร์ ในช่วงเวลานั้นนักพากย์ที่คนส่วนใหญ่รู้จัก ได้แก่ รุจิรา-มารศรี พันคำ (พร้อมสิน สีบุญเรื่อง) เสน่ห์ โกมารชุน จุรี โอศิริ สีเทา สมพงษ์ วงศ์รักไทย ฯลฯ
ภาพยนตร์ไทยสะท้อนสังคม (2516 - 2529)

              ในภาวะที่บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะคับขันไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 เป็นต้นมาจนถึงราวปี พ.ศ. 2529 มีภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องได้แสดงบทบาทของตนในฐานะกระจกสะท้อนปัญหาการเมือง และสังคม ในช่วงเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2516-2529 โดยเฉพาะในปีพ.ศ. 2521-2525 นั้น เป็นช่วงที่หนังสะท้อนสังคมโดดเด่นที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่า นี่คือยุคทองของหนังสะท้อนสังคม
ภาพยนตร์เรื่องเขาชื่อกานต์ นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี, นัยนา ชีวานันท์ และภิญโญ ทองเจือ

              ภาพยนตร์เรื่องเขาชื่อกานต์ นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี, นัยนา ชีวานันท์ และภิญโญ ทองเจือ เมื่อ มิตร ชัยบัญชา เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2513 และส่งผลให้หนัง 16 มม. ถึงจุดจบตามไปด้วย เป็นช่วงเวลาที่กิจการสร้างหนังไทยกำลังเปลี่ยนทั้งระบบ จากการสร้างภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตร พากย์สด ไปเป็นการสร้างภาพยนตร์ 35 มิลลิเมตร เสียงในฟิล์ม อันเป็นผลจากการตั้งเงื่อนไขในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยของรัฐบาลในช่วงนั้นได้มีผู้กำกับหัวก้าวหน้าอย่างเปี๊ยก โปสเตอร์ ที่สร้าง โทน ด้วยระบบ 35 มม. แม้ว่าเนื้อหาจะเน้นความบันเทิงเป็นหลัก ทว่าแฝงแรงบันดาลใจให้คนหลายคน โดยเฉพาะ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย และสักกะ จารุจินดา ทำหนังเชิงวิพากษ์สังคมก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ภาพยนตร์เรื่อง เขาชื่อกานต์ มีปัญหากับเซ็นเซอร์ตั้งแต่ต้นแล้ว เพราะเป็นหนังเรื่องแรกที่สร้างขึ้นมาพูดถึงระบบการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยตรง ซึ่งในสมัยนั้นไม่มีใครกล้าแตะต้อง ในระยะไล่เลี่ยกัน สักกะ จารุจินดา ได้นำ ตลาดพรหมจารี ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยอมรับจากทั้งนักวิจารณ์และคนดู
ภาพยนตร์ไทยในทศวรรษ (2530 - 2539)

              ในช่วงต้นทศวรรษ วัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของคนทำหนังไทยตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2531-2532 หลังความสำเร็จของ ซึมน้อยหน่อยกะล่อนมากหน่อย, ปลื้ม ,ฉลุย และบุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. 2531) เรื่องหลังเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้กำกับรุ่นเดียวกับยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งหลังจากหนังเรื่องนี้ บัณฑิตก็กลายเป็นคนทำหนังร่วมสมัยที่มีหนังทำเงินและหนังคุณภาพมากที่สุด ระหว่างปี 2531-2538 บัณฑิตทำหนังชุดบุญชูถึง 6 เรื่อง ในปี พ.ศ. 2534 ไทเอนเตอร์เทนเมนท์ ประสบความสำเร็จกับภาพยนตร์เรื่อง กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้

 บ้านผีปอบ
ภาพยนตร์เรื่องบ้านผีปอบ

              นอกจากหนังประเภทวัยรุ่นแล้ว หนังผี และหนังบู๊ รวมทั้งหนังโป๊ (เป็นแนวพิเศษที่แยกออกมาจากหนังชีวิต นิยมสร้างกันในช่วงปี พ.ศ. 2532-2535 โดยมีตลาดวิดีโอเป็นเป้าหมายหลัก) ส่วนใหญ่เป็นหนังเกรดบี หรือ หนังลงทุนต่ำของผู้สร้างรายเล็ก ๆ หนังที่โดดเด่นในบรรดาหนังเกรดบี คือ หนังผีในชุดบ้านผีปอบ ซึ่งสร้างติดต่อกันมากว่า 10 ภาคในระหว่างปี พ.ศ. 2532-2537 เหตุเพราะเป็นหนังลงทุนต่ำที่ทำกำไรดี โดยเฉพาะในตลาดต่างจังหวัด
              ในช่วงปลายทศวรรษ คนทำหนังไทยได้ปรับปรุงคุณภาพของงานสร้าง จนกระทั่งหนังไทยชั้นดีมีรูปลักษณ์ไม่ห่างจากหนังระดับมาตรฐานของฮ่องกง หรือ ฮอลลีวูดแต่จำนวนการสร้างหนังก็ลดลง จากที่เคยออกฉายมากกว่า 100 เรื่อง ในปี พ.ศ. 2533 ลดลงเหลือเพียงราว 30 เรื่องในปี พ.ศ. 2539 ทางด้านรายได้ จากเพดานรายได้ จากระดับ 20-30 ล้านบาท (ต่อเรื่อง) ในระหว่างปี 2531-2534 สู่ระดับ 50- 70 ล้านบาท ในระหว่างปี 2537-2540 แต่ยังห่างจากความสำเร็จของหนังฮอลลีวูดที่พุ่งผ่าน 100 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539
              การเปลี่ยนแปลงของวงการภาพยนตร์ไทยนั้น มีผลจากการเติบโตของตลาดวิดีโอ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของหนังฮอลลีวูดและการปรับเปลี่ยนรูปแบบโรงหนังในกรุงเทพฯ สู่ระบบมัลติเพล็กซ์ ซึ่งเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2537 โรงหนังขนาด ย่อยในห้างที่มีระบบเสียงและระบบการฉายทันสมัยเหล่านี้ นอกจากจะถูกสร้างให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ของคนเมืองแล้ว ยังมุ่งรองรับหนังฮอลลีวูดเป็นหลัก ทำให้หนังไทยถูกลดจำนวนลงไปเรื่อย ๆ
ภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน

              เมื่อเริ่มต้นทศวรรษใหม่ในปีพ.ศ. 2540 ก็มีปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตัวให้แก่วงการหนังไทยอีกครั้ง นั่นคือความสำเร็จชนิดทำลายสถิติหนังไทยทุกเรื่อง ด้วยรายได้มากกว่า 70 ล้านบาทจากหนังของไทเอ็นเตอร์เทนเมนท์ เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง